GoHospo
Publish : 24 Aug 2020
Syncope
โรควูบเสี่ยงถึงตาย เออ ๆ สงสัยร้อน วูบนิดหน่อยไม่เป็นไรหรอก แน่ใจจริงหรือ ? ถึงตายได้นะ
โรควูบ คือ อาการเป็นลมเกือบหมดสติ หรืออาจหมดสติไป ส่วนใหญ่อาจเห็นภาพเป็นสีขาวหรือสีดำก่อนจะวูบ การเป็นลมหมดสติมีตั้งแต่เป็นลมทั่ว ๆ ไป จากอากาศที่ร้อน ร่างกายที่อ่อนเพลีย จากโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตต่ำ โรคเบาหวานจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จนถึงเป็นลมเนื่องจากความผิดปกติขั้นรุนแรงของหัวใจ
ผู้ป่วยมกเกิดความวิตกกังวล เพราะไม่รู้ว่าตนเองจะวูบไปอีกเมื่อไร ถ้าเกิดขณะขับรถจะทำอย่างไร หรือไม่มีผู้พบเห็นจะทำอย่างไร
อาการวูบมักมีสาเหตุจากการที่เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอในช่วงเวลาสั้น ๆ หรืออาจเกิดจากมีเนื้องอกในสมอง ระบบการทรงตัวเกิดความผิดปกติ สมองทำงานผิดปกติ หรืออาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคอื่น ๆ
ลองมาดูกันว่า “อาการวูบ” สามารถเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
1. ภาวะอ่อนเพลีย พักผ่อนน้อย ขาดน้ำ หากร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ เลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนควบคุมความรู้สึกอาจลดลงทำให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นลม และหมดสติอย่างกะทันหันได้ นอกจากนี้ การอ่อนเพลียอาจสัมพันธ์กับภาวะร่างกายที่ขาดน้ำ การยืนตากแดดนาน ๆ หรือไม่ได้รับประทานอาหารจนส่งผลให้ความดันเลือดตกได้ และเกิดอาการวูบหมดสติตามมาได้
2. ผู้ที่มีระบบประสาทไวกว่าปกติ ในบางคนที่มีภาวะระบบประสาทไวกว่าปกติ เมื่อเจอเข้ากับสิ่งเร้า เช่น อากาศร้อน ภาวะกดดัน ความกลัวอย่างรุนแรง หัวใจก็จะเต้นเร็วผิดปกติ ส่งผลให้เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงสมองแบบขาดตอน ทำให้เกิดอาการหน้ามืด วูบหมดสติได้เช่นกัน
3. การรับประทานยาบางชนิด หรือภาวะโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตที่รับประทานยาลดความดัน หากกินมากเกินไปความดันในร่างกายอาจตกได้ ทำให้เกิดอาการวูบเมื่อเปลี่ยนท่า เช่น เมื่อนั่งนาน ๆ แล้วลุกขึ้นยืนทำให้ความดันเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยเบาหวาน การรับประทานยาเบาหวาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงมากเกินไป ผู้ป่วยที่ทานยาทางระบบประสาท เช่น ยาคลายกังวล ยานอนหลับ และยาแก้ปวดบางชนิดที่มีส่วนผสมของฝิ่น ก็อาจมีอาการวูบได้เช่นกัน
4. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจอาจจะเต้นช้าเกินไป ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ หรือบางกรณีหัวใจเต้นเร็วเกินไปทำให้ไม่มีประสิทธิภาพดีพอที่จะส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้เกิดอาการวูบ สาเหตุชนิดนี้เป็นสาเหตุที่อันตราย เพราะผู้ป่วยอาจเสียชีวิตเฉียบพลันได้
5. ที่มาอื่น ๆ ได้แก่
- การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างกะทันหัน เช่น ลุกขึ้นยืนเร็วเกินไป เพราะอาจทำให้เลือดไหลลงไปที่เท้าหรือขาอย่างรวดเร็ว
- กำลังตั้งครรภ์
-เป็นโรคหรือความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- การใช้ยาที่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ
- หกล้ม หรือได้รับบาดเจ็บ
- อาการชัก หรือโรคลมบ้าหมู
- โรคเส้นเลือดในสมองตีบชั่วคราว หรืออัมพฤกษ์
- เวียนศีรษะ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทการทรงตัวในช่องหูชั้นใน หรือสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการทรงตัว
- ใช้สารเสพติด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หากพบสัญญาณเตือนข้อใดข้อหนึ่ง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อหาสาเหตุของอาการวูบให้พบตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อหาแนวทางการรักษา หากปล่อยไว้นานไปอาจวูบและเสี่ยงถึงตายจนอดอยู่กับคนที่เรารักได้ค่ะ