โรคย้ำคิดย้ำทำ Obsessive-compulsive disorder; OCD

GoHospo

โรคย้ำคิดย้ำทำ Obsessive-compulsive disorder; OCD

ทำไมมีรักแต่ไม่มีสุขคุ้น ๆ ใช่ไหมคะกับคนที่เครียดกับเรื่องรักซ้ำไปซ้ำมาหรือเขาจะเป็น OCD กันนะ?


โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder; OCD) เป็นโรคที่ผู้ป่วยคิดซ้ำ ๆ วนไปวนมา ทำให้เกิดความกังวลใจ จึงตอบสนองต่อความกังวลใจนั้นด้วยการทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ เพื่อลดความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวผู้ป่วยเองก็รู้ดีว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล แต่ก็ไม่สามารถหยุดความคิดและการกระทำนั้นได้ จึงหมดเวลาไปกับการทำบางสิ่งซ้ำไปซ้ำมาเป็นอย่างมาก เกิดความทุกข์ทรมานจากอาการดังกล่าว
การย้ำคิดย้ำทำด้านความสัมพันธ์ (Relationship OCD (ROCD) ก็เป็นปัญหาในอีกรูปแบบหนึ่งที่คนไทยไม่ค่อยพูดถึง เช่น ผู้ที่มีอาการมักเกิดความกังวลหรือมีข้อกังขาในตัวของคู่รักตลอดเวลา คิดเปรียบเทียบคู่รักของตนเองกับคนอื่นอยู่ซ้ำ ๆ คิดเรื่องเดิมซ้ำๆ จ้องจับผิด เอ๊ะ เขาเป็น คนที่ใช่ จริงหรือเปล่า ? เอ๊ะ เขาน่าจะเป็นแบบนี้แบบนั้น อาจจะไม่กล้าพัฒนาความสัมพันธ์เพราะรู้สึกยังติดอะไรบางอย่าง หรืออาจจะมองหาคำตอบเรื่องความรักจากโลกออนไลน์เสมอ ๆ หลาย ๆครั้งก็ดูไม่ได้มีเหตุผล แต่ไม่สามารถหยุดคิดได้ วนไปวนมา จนเพื่อนเบื่อจะฟัง นำไปสู่ปัญหาครอบครัวที่อาจเกิดการหย่าร้าง เพราะคิดว่ามีคนใหม่ที่ดีกว่าคู่รักปัจจุบันอยู่เสมอ เมื่อมีใหม่ก็จะเกิดปัญหาเดิมอยู่ซ้ำ ๆ ไม่รู้จบ
ถ้าคุณไม่แน่ใจ ว่านิสัยชอบทำอะไรซ้ำ ๆ ใช่โรค OCD หรือเปล่า ให้ลองดูว่า หากการย้ำคิดย้ำทำนั้นเริ่มกระทบกับชีวิตประจำวัน สร้างความวิตกกังวล หยุดคิดไม่ได้ หรืออาจทำให้เกิดผลกระทบทางร่างกาย เช่น หรือล้างมือบ่อยเกินไปจนเริ่มมีปัญหาทางผิวหนัง ต้องเสียเวลาโดยไม่จำเป็นไปกับพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 1 ชั่วโมงในหนึ่งวัน นั่นอาจจะเป็นสัญญาน บอกว่าคุณเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำแล้วล่ะค่ะ

อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่

อาการย้ำคิด (Obsession) เป็นความคิด ความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาซ้ำ ๆ เช่น มีความคิดซ้ำ ๆ ว่ามือสกปรก คิดว่าลืมปิดแก๊ส ชอบสะสมของมากเกินจำเป็น มีข้อกังขาในคู่รักตลอดเวลา เป็นต้น ความคิดดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลใจ ความไม่สบายใจอย่างมาก และรู้สึกรำคาญต่อความคิดนี้

อาการย้ำทำ (Compulsion) เป็นพฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่ผู้ป่วยทำเพื่อตอบสนองต่อความย้ำคิด เพื่อลดความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ ตามที่ตนกลัว เช่น ต้องล้างมือซ้ำ ๆ เพราะคิดว่ามือสกปรก ตรวจสอบหัวแก๊สซ้ำ ๆ ต้องเปรียบเทียบคู่รักของตนกับคนอื่นซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มากเกินปกติ และไม่สมเหตุสมผล

สาเหตุพบว่าอาจเกิดจากผู้ป่วยมีการทำงานของสมองในส่วน orbitofrontal cortex, cingulate cortex, caudate และ thalamus ที่อาจรวมกันเป็นวงจรที่มีการทำงานมากเกินปกติ หรืออาจเกิดจากปริมาณสารสื่อประสาทซีโรโตนิน (serotonin) ไม่สมดุล เนื่องจากพบว่ายาแก้ซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ต่อระบบซีโรโตนินมีประสิทธิภาพในการรักษาโรค OCD

การรักษาเบื้องต้นที่ได้ผลดี คือ การพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือ พฤติกรรมบำบัด โดยการให้ผู้ป่วยเผชิญกับสิ่งที่ทำให้กังวลใจและป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมย้ำทำที่เคยกระทำ เช่น ผู้ป่วยที่ชอบล้างมือซ้ำ ๆ ก็ให้จับของที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าสกปรก รอสักพักหนึ่งจึงจะอนุญาตให้ล้างมือได้ พยายามให้หากิจกรรมอื่นทำเพื่อไม่ให้หมกมุ่นกับความคิดตนเองจนมากเกินไป

การรักษาด้วยยา ส่วนใหญ่จะเป็นยากลุ่มต้านซึมเศร้า ชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อระบบซีโรโตนิน เช่น fluoxetine, fluvoxamine, paroxetine, sertraline และ escitalopram โดยทั่วไปมักใช้ในขนาดที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า อาการข้างเคียงที่อาจพบได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ยาคลายกังวล ในผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลอยู่สูงอาจใช้ยาในกลุ่ม benzodiazepine ในระยะสั้น ๆ ยาในกลุ่มนี้ไม่มีผลในการรักษาอาการย้ำคิด หรืออาการย้ำทำ

สำหรับผู้ที่มีภาวะย้ำคิดย้ำทำหากลองพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่ได้ผล ควรปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางนะคะ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะยากลุ่มนี้เป็นยาอันตรายมีผลข้างเคียงสูงค่ะ

เอกสารอ้างอิง



Category Related

Other Category