Polycystic Ovary Syndrome; PCOS กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่

GoHospo

Polycystic Ovary Syndrome; PCOS กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่

นี่ก็ไม่เด็กแล้วนะ แต่เป็นสิวไม่หยุด แล้วยังอ้วนง่ายอีก หาหมอสิวมาตั้งแต่ม.ปลายจนเลิกหาแล้วเนี่ย - #คุณมีถุงน้ำในรังไข่รึเปล่า ?

กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome; PCOS) เป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน และอินซูลินอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุลกัน เกิดเป็นถุงน้ำขนาดเล็ก ๆ จำนวนมากอยู่ในรังไข่ ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ สิวขึ้น ขนดก โดยมักพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์

การตกไข่ที่ผิดปกติ ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติและมีบุตรยาก เนื่องจากการตั้งครรภ์ต้องอาศัยการตกไข่ที่สม่ำเสมอ ซึ่งผู้ป่วย PCOS บางราย อาจมีภาวะไม่ตกไข่ในบางเดือน หรือบางรายอาจไม่มีการตกไข่เลย จึงส่งผลให้มีโอกาสตั้งครรภ์ยาก

นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่กระทบต่อสภาพจิตใจและทำให้เกิดความไม่มั่นใจในผู้หญิง คือ การที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเพศชายหรือฮอร์โมนแอนโดรเจนสูงขึ้น ทำให้มีลักษณะคล้ายผู้ชาย เช่น มีขนขึ้นส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ขา รักแร้ มีสิวขึ้นมากผิดปกติโดยเฉพาะที่ใบหน้า มีเสียงเปลี่ยน หรือเป็นโรคศีรษะล้านทำให้ผมร่วงและมีผมบาง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและเกิดความไม่มั่นใจในตนเองค่อนข้างมาก บางรายที่ไม่ทราบสาเหตุและไม่เคยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการแก้ไขอาจมีพฤติกรรมเก็บตัว เพราะไม่มั่นใจในการเข้าสังคม กลัวสังคมไม่ยอมรับในความผิดปกติที่เกิดขึ้น

วิธีสังเกต ง่าย ๆ ว่าตนเองมีความผิดปกตินี้หรือไม่สามารถดูได้จาก
- การมีรอบประจำเดือนที่ผิดปกติ เช่น มาไม่สม่ำเสมอบ่อย ๆ ประจำเดือนห่างไปนาน หรือในบางรายอาจขาดหายไปนานเป็นปี
- มีลักษณะทางกายภาพคล้ายผู้ชาย เช่น หน้ามัน มีสิวมาก ขนดกมากกว่าปกติ มีเสียงห้าว เป็นต้น

หากมีสัญญาณเตือนเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ หรือสูตินรีเวช แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการอัลตราซาวด์เพื่อดูว่ารังไข่มีถุงน้ำที่ผิดปกติหรือไม่

สำหรับการรักษาแพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ควบคุมอาหารกลุ่มน้ำตาล แป้ง และไขมัน เนื่องจากโรคนี้มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนอินซูลินและการเผาผลาญพลังงาน ทำให้อ้วนได้ง่ายและมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน และโรคไขมันง่ายกว่าคนปกติ

นอกจากนี้ หากประจำเดือนขาดหายไปนาน ๆ แพทย์อาจพิจารณาให้ทานยาฮอร์โมนเพื่อปรับสมดุลรอบเดือนให้ปกติ เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายจากการห่างหายรอบเดือนไปนาน หากมีรอบเดือนอีกครั้งอาจเสียเลือดมากจนเกิดอันตรายกับร่างกายได้ เห็นอย่างนี้แล้วอย่าไว้ใจ รีบไปตรวจให้แน่ใจ ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่าสายเกินไปนะคะ

เอกสารอ้างอิง


Other Category