#งานด่วน #เจ้านายเร่ง #ลูกค้าตามจนนิ้วล็อก (Repetitive typing strain)

GoHospo

#งานด่วน #เจ้านายเร่ง #ลูกค้าตามจนนิ้วล็อก (Repetitive typing strain)

ในชีวิตการทำงานปัจจุบันคงหลีกเลี่ยงความเครียดไม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดจากงานด่วน เจ้านายเร่ง ลูกค้าตาม งานต้องเสร็จ ฯลฯ นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์ก็ถือเป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำงานของหลาย ๆ คน โดนเฉพาะงานออฟฟิต และยังมีการใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น ทำให้ในแต่ละวันมีการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือการทำงานในท่าซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ เรียกว่า “การบาดเจ็บซ้ำซากจากงานซ้ำ ๆ (Repetitive typing strain หรือ RSI)” ซึ่งหากเกิดกับการพิมพ์งานซ้ำ ๆ ก็จะเรียกว่า “Repetitive typing strain หรือ RTS” วันนี้เราจะมาทำความรู้จักเจ้าโรคนี้ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงและหาวิธีป้องกันผลเสียที่เกิดจากการใช้งานซ้ำ ๆ ดังกล่าวกันค่ะ
การทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะก่อตัวอย่างเงียบๆ ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะแป้นพิมพ์ หรือ Keyboard นับว่าเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บเรื้อรังจากการใช้คอมพิวเตอร์ที่พบได้บ่อยที่สุดสาเหตุหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุเกิดจาก....
1. การใช้นิ้วมือหรือแขนทำงานด้วยท่าทางซ้ำ ๆ ต่อเนื่องนานมากเกินไป เช่น การทำงานกับคอมพิวเตอร์ พิมพ์แป้นพิมพ์ด้วยท่าทางซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน
2. ท่านั่งพิมพ์ที่ไม่ถูกวิธี
3. อุปกรณ์การทำงาน เช่น เก้าอี้ โต๊ะคอมพิวเตอร์ มีการจัดวางตำแหน่งไม่เหมาะสม
4. การออกแรงกดแป้นอักษรมากเกินไป หรือการเกร็งนิ้วมือขณะทำงาน
จนในที่สุดนำไปสู่อาการเจ็บปวดของร่างกาย ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ เอ็นยึดกระดูก เอ็นยึดกล้ามเนื้อและเส้นประสาทบริเวณนิ้วมือ ข้อมือ มือ แขน หรืออาจร้าวไปถึงไหล่ได้เลยล่ะค่ะ
อาการแสดงออกในโรค RTS ที่พบได้บ่อยที่สุดอาการหนึ่ง คือ อาการนิ้วล็อค หรือ Trigger Finger ซึ่งเป็นอาการที่นิ้วเกิดล็อคเมื่องอนิ้ว แล้วไม่สามารถกลับมาเหยียดตรงได้ง่าย เกิดจากการอักเสบหนาตัวของปลอกเอ็นกล้ามเนื้อที่นิ้ว ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเส้นเอ็นป้องกันตัวเองจากการใช้งานมากเกินไปโดยการสร้างถุงหนาบรรจุของเหลวที่เรียกว่า Synovial Sheath เพื่อป้องกันเส้นเอ็น เมื่อถุงเหล่านี้พองในช่องโพรงกระดูก จะทำให้เส้นประสาทกลางไปติดกับกระดูกหรือเอ็นข้อนิ้วมือ ทำให้หมดความรู้สึกหรือมีอาการเจ็บปวด ในบางกรณีอาจมีอาการบวม อับเสบ หรืออ่อนล้าร่วมด้วย
การรักษาภาวะนิ้วล็อคสามารถทำได้โดยการออกกำลังกายยืดเส้น โดยเฉพาะกล้ามเนื้อนิ้ว การประคบร้อน/เย็น หรือการรักษาด้วยยาลดอักเสบ/ยาสเตียรอยด์ อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดอาการนิ้วล็อครุนแรง หรือวิธีรักษาด้วยยาและการบำบัดใช้ไม่ได้ผล ควรต้องรีบพบแพทย์โดยตรง เพื่อหาวิธีช่วยให้เอ็นนิ้วสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ หรือ หากการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเพื่อรักษาอาการนิ้วล็อค

Other Category