Sciatica

GoHospo

Sciatica

ปวดสะโพกร้าวลงขา (เจ็บสลักเพชร) ชื่อแปลกๆ ที่ต้องรู้จัก!!
ถ้าไม่ใส่ใจเส้นประสาทอาจถูกทำลายถาวร-ขาไร้ความรู้สึก-ควบคุมปัสสาวะอุจจาระไม่ได้

เพื่อนๆเคยมีอาการชาปลายประสาทจากเอวจนถึงเท้ากันไหมคะ? ในสมัยก่อนอาจเรียกว่าอาการเจ็บสลักเพชร ในปัจจุบันอาการปวดร้าวที่วิ่งไปตามแนวเส้นประสาทไซอาติกนี้ เรียกว่า อาการปวดแบบไซอาติก (Sciatic หรือ Sciatica pain)

อาการปวดมักสัมพันธ์กับท่านั่งหรือยืน เช่น หลังการนั่งอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ หรือขับรถยนต์นาน ๆ จะทำให้เกิดอาการปวดจนไม่สามารถลุกขึ้นจากเก้าอี้ได้ โดยอาการมักมีความรุนแรงมากในตอนเช้าหลังตื่นนอน

เส้นประสาทไซอาติก (Sciatic nerve) เป็นเส้นประสาทขนาดใหญ่ที่เชื่อมจากกระดูกสันหลังส่วนเอวไปยังกล้ามเนื้อขา หากเกิดการระคายเคืองของเส้นประสาทไซอาติกจะส่งผลให้เส้นประสาทอักเสบและเกิดอาการปวดตามมา ทำให้มีอาการชาปลายประสาทจากเอวจนถึงเท้านนั่นเอง

ผู้ที่มีอาการปวดแบบไซอาติกจะมีอาการสำคัญที่สามารถสังเกตได้คือ มักปวดตามแนวเส้นประสาทจากบริเวณหลังส่วนล่างหรือเอวลามไปยังก้นและด้านหลังขา

แต่อาการปวดสามารถเกิดได้ทุกจุดที่มีเส้นประสาทไซอาติกผ่าน โดยเฉพาะบริเวณขาและเท้า โดยอาจปวดขาทั้ง 2 ข้าง หรือขาข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ อาการปวดจะเป็นรุนแรงในบางครั้งจนไม่สามารถเดินได้

อาการปวดแบบไซอาติกอาจเกิดจากการที่เส้นประสาทไซอาติกถูกกดทับที่จุดใดจุดหนึ่งในร่างกาย จนทำให้เส้นประสาทเกิดการระคายเคืองและอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท และโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน หรืออาจเกิดจากการกดทับที่บริเวณกล้ามเนื้อสะโพก หรือการกดทับจากการหนีบของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส (Piriformis) ซึ่งอยู่บริเวณสะโพก

เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวตามเส้นประสาทจำเป็นต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการวินิจฉัยแยกโรคอย่างละเอียดอีกครั้งว่ามีสาเหตุจากการอาการปวดแบบไซอาติกหรือไม่ เช่น การทดสอบความแข็งแรงกล้ามเนื้อและการตอบสนองทางระบบประสาทของร่างกาย โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยทดลองเดินบนปลายเท้าหรือส้นเท้า ให้นอนลงแล้วลุกขึ้น หรือยกเท้าทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน เพราะการทำกิจกรรมเหล่านี้มักส่งผลให้อาการปวดแย่ลง

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เส้นประสาทถูกทำลายอย่างถาวร จนทำให้ขาข้างที่มีอาการปวดไร้ความรู้สึก กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง และไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะหรืออุจจาระได้

ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดแบบไซอาติกจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ โดยการพักรักษาตัว นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานยาแก้ปวด ออกกำลังกาย และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ โดยหลีกเลี่ยงการกระโดด หรือบิดตัวแรง ๆ

แต่หากอาการปวดรุนแรงมากและมีอาการอ่อนแรง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์โดยแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ระยะเวลาที่มีการปวด ยาที่รับประทานอยู่ ประวัติการเกิดอุบัติเหตุครั้งล่าสุด หรือข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุและวางแผนการรักษาต่อไป เช่น การรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด การฉีดยาระงับการอักเสบ และการผ่าตัด เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
1. https://www.nhs.uk/conditions/sciatica/
2. https://www.painawayclinic.com/en/sciatica-pain-symptoms-causes-and-treatment/
3. https://www.webmd.com/back-pain/ss/slideshow-visual-guide-to-sciatica#:~:text=Sciatica%20refers%20to%20back%20pain,hip%2C%20buttocks%2C%20and%20leg

Other Category