ระวัง!

Administrator

ระวัง! " โนโรไวรัส " (Norovirus) ตัวการร้ายของท้องเสียฉับพลัน



อาการท้องเสียหรือท้องร่วงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในเด็กที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งที่มาของการเกิดท้องเสียอาจจะไม่ได้มาจากโรต้าไวรัสเท่านั้น แต่ยังมีต้นเหตุจากไวรัสที่มีชื่อว่า “โนโรไวรัส” ซึ่งจะทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาการรุนแรง และหากมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำอาจจะมีอาการหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ ฉะนั้นเราควรทำความรู้จักกับไวรัสตัวนี้เพื่อพร้อมรับมือและป้องกันได้อย่างทันท่วงที


ทำความรู้จักโนโรไวรัส

โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร สามารถระบาดได้โดยง่ายและรวดเร็วแม้จะได้รับเชื้อในปริมาณเล็กน้อยก็ตาม ทั้งยังสามารถทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ได้ดี ทำให้ไวรัสชนิดนี้สามารถเข้าไปปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม จนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ สามารถเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีระยะฟักตัวสั้น 12-48 ชั่วโมงหลังได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย


โนโรไวรัสติดต่อและแพร่กระจายอย่างไร

ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโนโรไวรัสปนเปื้อน พบบ่อยในน้ำดื่ม น้ำแข็ง ผักผลไม้สด หอยนางรม เป็นต้น การสัมผัสกับสิ่งของหรือพื้นผิวที่เปื้อนเชื้อโนโรไวรัสแล้วเอานิ้วหรือมือเข้าปาก การสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง อุจจาระหรือละอองอาเจียนของผู้ป่วย


อาการของผู้ติดเชื้อโนโรไวรัส

โนโรไวรัสทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ จึงมีอาการอาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย บางรายมีไข้ต่ำ ปวดศีรษะปวดเมื่อย อ่อนเพลีย เริ่มมีอาการ 12-48 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อโนโรไวรัส และอาการจะดีขึ้นภายใน 1-3 วัน แต่บางรายอาจนานถึง 5 วัน


การรักษาผู้ติดเชื้อโนโรไวรัส

เนื่องจากไม่มียารักษาเฉพาะ แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ดื่มน้ำเกลือแร่ ถ้ามีภาวะขาดน้ำมากให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด การให้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ประโยชน์


การป้องกันตัวเองจากโนโรไวรัส

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อโนโรไวรัส แอลกอฮอล์เจลไม่สามารถทำลายเชื้อโนโรไวรัส แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด หลังจากเข้าห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม ก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือประกอบอาหาร ล้างผักและผลไม้สดให้สะอาดก่อนรับประทาน ส่วนผู้ป่วยควรงดเว้นการประกอบอาหาร เด็กควรงดไปโรงเรียนหรือสถานที่รับเลี้ยงเด็กเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ จนกว่าจะอาการดีขึ้นแล้วอย่างน้อย 48 ชั่วโมง


อ้างอิงแหล่งที่มา : โรงพยาบาลนครธน


หมวดหมู่ที่เกี่ยวข้อง