5 โรคมะเร็งที่พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

Administrator

5 โรคมะเร็งที่พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

รู้ไหมว่า แม้มะเร็งจะเป็นโรคอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี 

แต่หากเรารู้ก่อน รู้เร็ว ก็สามารถรักษาได้ทันท่วงที โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกในเด็กไทย คือ

1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน (Acute Leukemia) พบ 38.1คน/ล้านคน/ปี 

พบบ่อยที่สุดคือประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

1.1. Acute Lymphoblastic Leukemia (ALL) 

1.2.  Acute Myeloid Leukemia (AML) โดย ALL มักพบได้บ่อยกว่า AML ถึง 3 เท่า 

อาการแสดงได้แก่ มีไข้ มีอาการซีด อ่อนเพลีย มีจุดจ้ำเลือดตามตัว ปวดตามร่างกายหรือกระดูก 

หรือตรวจร่างกายพบตับโต ร่วมกับตรวจเลือด CBC พบเซลล์เม็ดเลือดผิดปกติ 

การวินิจฉัยโรคทำได้โดยเจาะตรวจไขกระดูกเพื่อดูความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว (blast cells)


2. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) พบ 6.4 คน/ล้านคน/ต่อปี

พบมะเร็งชนิดนี้รองลงมาจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ

2.1. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin

2.2. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non Hodgkin

เด็กมักมีอาการไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีก้อนแข็งใต้ผิวหนัง

หรือต่อมน้ำเหลืองโตตามร่างกาย การวินิจฉัยโรคจำเป็นต้องได้ชิ้นเนื้อจากก้อน

หรือต่อมน้ำเหลืองมาตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียดทางพยาธิวิทยา 

รวมถึงต้องมีการตรวจค้นเพิ่มเติมเพื่อดูการกระจายของตัวโรค 

เช่น การทางรังสีวินิจฉัย (CT scan, Gallium scan/PET scan และ Bone scan) และเจาะตรวจไขกระดูก


3. มะเร็งระบบประสาทส่วนกลาง (Brain Tumor) พบ 6.3 คน/ล้านคน/ต่อปี

พบได้บ่อยเป็นอันดับสาม โดยอาการจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของตัวโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง

ว่ามีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วหรือไม่ และช่วงอายุของผู้ป่วย ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการเดินเซ อาเจียน 

การมองเห็นผิดปกติ ปวดศีรษะ หรือชัก แต่เด็กบางคนจะพบแพทย์จากการมีพัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์อายุ 

การวินิจฉัยจำเป็นต้องได้รับการตรวจเอกซ์เรย์เพิ่มเติม (CT scan หรือ MRI) 

เพื่อดูตำแหน่งและขนาดของก้อนมะเร็ง หลังจากนั้นต้องมีการผ่าตัดเพื่อให้ได้ชิ้นเนื้อจากก้อน

ส่งตรวจเพิ่มเติมทางพยาธิวิทยา


4. มะเร็งต่อมหมวกไตและปมประสาทซิมพาเทติก (Neuroblastoma) พบ 4.9 คน/ล้านคน/ปี

มักพบในเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี การดำเนินโรคค่อนข้างรวดเร็วและรุนแรง ผู้ป่วยมักมาด้วยก้อนในช่องท้อง 

ร่วมกับมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ จากการแพร่กระจายของตัวโรค เช่น มีอาการไข้  ซีด อ่อนแรง 

ปวดตามร่างกายหรือกระดูก หรือมีก้อนแข็งนูนใต้ผิวหนัง การตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้หลายรูปแบบ 

เช่น เจาะตรวจไขกระดูก ร่วมกับตรวจเลือดหาค่ามะเร็ง (tumor marker) 

หรือตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา


5. มะเร็งเซลล์สืบพันธุ์ (Germ Cell Tumor) พบ 4.3 คน/ล้านคน/ต่อปี

มะเร็งชนิดนี้ ในเด็กเล็กมักมาด้วยอาการลักษณะมีก้อนที่บริเวณช่องท้องและก้นกบ 

ส่วนวัยรุ่นมาด้วยอาการมีก้อนที่ต่อมเพศ เช่น อัณฑะ รังไข่ นอกจากนี้ยังอาจมาด้วยอาการที่เรียกว่า

เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย เมื่อโรคเกิดที่ต่อมไพเนียลในสมองที่เป็นต่อมควบคุมภาวะความเป็นหนุ่มสาว 

หรืออาจมาด้วยอาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก เมื่อโรคเกิดในช่องอก 

การวินิจฉัยและจำแนกระยะของโรค วินิจฉัยโดยวิธีการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนที่ก้อนมีการหลั่งออกมา

การตรวจทางรังสีวินิจฉัย เช่น CT scan, bone scan และการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนส่งตรวจทางพยาธิวิทยา


***กรณีที่เป็นก้อนชนิดที่ไม่มีการหลั่งฮอร์โมน การรักษาประกอบไปด้วยการให้ยาเคมีบำบัด 

การฉายรังสีรักษา และการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

👉🏻ที่มา https://www.bangkokhospital.com/

👉🏻ที่มา https://shorturl.asia/68uwz

👉🏻ที่มา https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/vaccine_HPV