BURNOUT SYNDROME

GoHospo

BURNOUT SYNDROME


หมดไฟคล้ายจะหมดแรง เพลียงานมาก เอ๊ะนี่เราซึมเศร้าหรือเปล่า ?

รู้สึกไม่มีแรงจะทำอะไร ไม่อยากทำงาน เบื่อหน่าย ขาดความสุข

หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่ามันมีโรคนี้ด้วยหรือนี่ ปัจจุบันเราพบผู้ที่ประสบปัญหาจากภาวะนี้เป็นจำนวนมาก (เผลอ ๆ เพื่อนคุณก็เป็นอยุ่) จนทำให้ภาวะหมดไฟในการทำงานได้รับการพูดถึงในวงกว้างทั่วโลก เรามาดูกันดีกว่าว่าภาวะนี้คืออะไร เกิดจากอะไร และตัวเราเองหรือคนใกล้ตัวกำลังประสบกับภาวะนี้อยู่หรือไม่

ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ "BURNOUT SYNDROME" เป็นภาวะด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียด ภาระงานที่หนักมากจนเกินไป ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ มองความสามารถในการทำงานของตนเองในเชิงลบ ขาดความรู้สึกประสบความสำเร็จ มองความสัมพันธ์ในที่ทำงานไปในทางลบ รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับงาน รู้สึกไม่มีแรงจะทำอะไร ไม่อยากทำงาน เบื่อหน่าย ขาดความสุข และขาดความสนุกในงาน

ฟังแล้วเหมือนตัวเองหรือเปล่าคะ ?

ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นจากภาวะนี้ คือ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของคน ๆ หนึ่งลดลง ส่งผลต่ออารมณ์ การใช้ชีวิตประจำวัน และตำแหน่งหน้าที่การงาน

ภาวะหมดไฟในการทำงานอาจไม่รุนแรงเท่ากับการเป็นโรคซึมเศร้า แต่หากปล่อยไว้นาน ๆ จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน เช่น ทำให้ขาดงานบ่อย โดนตำหนิจากหัวหน้างาน มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน

เมื่อปัญหาต่าง ๆ ทั้งเรื่องงานและความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานถูกสะสมนานวันเข้า อาจทำให้ตนเองคิดเรื่องลาออกหรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นถูกไล่ออกได้ในที่สุด ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ก็จะเกิดปัญหาครอบครัวตามมาลุกลามจนอาจเกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้เช่นกัน

เรียกได้ว่าพัง

สำหรับวิธีสังเกตตนเองหรือคนรอบข้างว่ามีภาวะหมดไฟหรือไม่นั้น สามารถสังเกตได้จากสัญญาณเตือนดังนี้

1. มีอารมณ์หดหู่ เบื่อหน่าย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิด มีความรู้สึกด้านลบ รู้สึกไม่พอใจในงานที่ทำ ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนเคยมีความสุขกับงาน
2. มีความคิดอยากหางานใหม่ เริ่มมองงานใหม่ มองเพื่อนร่วมงานในแง่ร้าย ไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง รู้สึกตนเองด้อยค่าไม่มีความสามารถ และอยากหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว
3. มีพฤติกรรมใจร้อน หุนหันพลันแล่น เริ่มมาทำงานสายบ่อยขึ้น งานไม่เสร็จตามกำหนด การบริหารจัดการเวลาแย่ลง

ภาวะดังกล่าวหากเกิดขึ้นควรรีบจัดการ เพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลายจนแก้ไขไม่ทันท่วงที โดยเทคนิคง่าย ๆ คือ ต้องพูดคุยเพื่อปรับความคิดเกี่ยวกับงานที่ทำ ค้นหาสาเหตุของภาวะที่เกิดขึ้น เช่น เกิดจากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือเกิดจากตนเอง

เมื่อพบปัญหา แล้วควรหาวิธีทางในการแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างเร็วที่สุด นอกจากนี้ ควรพัฒนาทักษะในการจัดการปัญหา และมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่าง ๆ มีทักษะการเข้าสังคม ทักษะการสื่อสาร รวมถึงต้องรู้จักปฏิเสธงานที่อาจได้รับมอบหมายมากเกินขีดจำกัดที่ตนสามารถทำได้ รวมถึงต้องรู้จักรักษาสิทธิ์ของตนเอง ควรเปิดใจยอมรับความแตกต่างและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เพราะไม่มีทุกสิ่งที่จะได้ตามใจตนทุกอย่าง รู้จักเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ในเรื่องที่ไม่จำเป็นหรือไม่เกี่ยวกับเนื้องาน

หากท่านไม่สามารถจัดการปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองควรหาที่ปรึกษาหรือ ปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อหาทางออกของปัญหา และควรออกกำลังกายเพื่อลดความเครียด นอนหลับให้เพียงพอ เท่านี้ท่านก็จะห่างไกลจากภาวะหมดไฟในการทำงานแล้วล่ะค่ะ

เอกสารอ้างอิง